ไมโครซอฟท์
เปิดเผย จาก Made in China สู่ Created in
Asia เอเชียครองสิทธิบัตร 70% ของโลก
มีการใช้งานเอไอมากกว่าภูมิภาคอื่นๆ
โรดริโก
เคเด ลิมา (Rodrigo Kede Lima) ประธานไมโครซอฟท์ประจำภูมิภาคเอเชีย
ให้สัมภาษณ์กับทางสำนักข่าว Fortune ว่า
เอเชียกำลังเปลี่ยนผ่านจากการเป็นเพียงฐานการผลิตหรือแหล่งประกอบสินค้า
สู่การเป็นผู้ออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยีด้วยตนเอง
ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา
เราได้ยินคำว่า “ผลิตในจีน” (Made in China) หรือ
“ผลิตในเวียดนาม” (Made in Vietnam) แต่ปัจจุบันกำลังเปลี่ยนเป็นยุคของ
“สร้างสรรค์ในเอเชีย” (Created in Asia)
ตามรายงานของไมโครซอฟท์
ธุรกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกำลังเร่งค้นหาวิธีการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI)
มาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยบริษัทต่างๆ
ในเอเชียไม่เพียงแต่ผลิตสินค้าเท่านั้น
แต่ยังมุ่งเน้นการออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ประธานลิมา
อธิบายเพิ่มเติมว่า เอเชียกำลังมีบทบาทสำคัญในวงการเทคโนโลยีระดับโลก
และมีการใช้งานเอไอมากกว่าภูมิภาคอื่นๆ
โดยปัจจุบันเอเชียเป็นเจ้าของสิทธิบัตรถึงร้อยละ 70 ของสิทธิบัตรทั้งหมดทั่วโลก
นอกจากนี้
เอเชียยังเป็นที่ตั้งของนักพัฒนาซอฟต์แวร์มากถึงสองในสามของจำนวนนักพัฒนาทั่วโลก
และมีการใช้งานหน่วยประมวลผลกราฟิก (GPU) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาเอไอมากกว่าภูมิภาคอื่นๆ
อีกด้วย
การเปลี่ยนเกมของสตาร์ตอัปจีน
นับตั้งแต่ที่ลิมาเข้ารับตำแหน่งประธานไมโครซอฟท์ประจำภูมิภาคเอเชียในเดือนกันยายน
2567 เขาได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้านเอไอของภูมิภาคเอเชีย
โดยหนึ่งในจุดเปลี่ยนสำคัญของตลาดคือ การปรากฏตัวของ DeepSeek
สตาร์ตอัปเทคโนโลยีจากเมืองหางโจว ประเทศจีน
ก่อนหน้านี้
เอไอระดับสูงถูกผูกขาดโดยบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของสหรัฐ หรือ “ซิลิคอนวัลเลย์”
ที่มีกำลังทรัพย์มหาศาลสำหรับการลงทุนในระบบประมวลผลราคาแพง แต่ DeepSeek
สามารถพัฒนาเอไอที่ใช้ทรัพยากรการประมวลผลน้อยกว่าโมเดลดั้งเดิมของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่
ซึ่งจะส่งผลให้ราคาของเทคโนโลยีเอไอถูกลงในอนาคต
และทำให้บริษัทที่มีงบประมาณน้อยกว่าสามารถเข้าถึง และนำเอไอมาใช้งานได้มากขึ้น
ลิมา
ยังคาดการณ์ถึงแนวโน้มในอนาคตว่า จะมีการพัฒนาโมเดลภาษาขนาดเล็ก (Small
Language Models) มากขึ้น
ซึ่งเป็นเอไอที่มีขนาดเล็กกว่าแต่ถูกปรับแต่งให้เชี่ยวชาญในงานเฉพาะด้าน เช่น
ด้านการแพทย์ แทนที่จะเป็นโมเดลขนาดใหญ่ที่ทำได้หลายอย่างแต่ต้องใช้ทรัพยากรมาก
การมีโมเดลเฉพาะทางจะช่วยให้การใช้งานเอไอมีประสิทธิภาพและคุ้มค่ามากขึ้นสำหรับงานเฉพาะด้าน
นอกจากนี้
ลิมาเชื่อว่าการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นในตลาดเอไอจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคและธุรกิจ
เนื่องจากจะมีตัวเลือกที่หลากหลายมากขึ้น เขาอธิบายว่า
แม้โมเดลเอไอบางตัวอาจมีประสิทธิภาพด้อยกว่าโมเดลชั้นนำ
แต่หากมีราคาถูกกว่าและมีความสามารถเพียงพอสำหรับงานบางประเภท
ก็จะเป็นทางเลือกที่คุ้มค่ากว่าสำหรับธุรกิจที่มีความต้องการเฉพาะด้านและมีงบประมาณจำกัด
“เปรียบเสมือนในตลาดสินค้าอื่นๆ
ที่ไม่จำเป็นต้องใช้สินค้าระดับพรีเมียมเสมอไป
หากสินค้าระดับกลางสามารถตอบโจทย์ความต้องการได้อย่างเพียงพอ”
ปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นทั่วโลก
โดยหุ้นในกลุ่ม Magnificent 7
ลดลงโดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 16 สำหรับปี 2568 อย่างไรก็ตาม
ไมโครซอฟท์ทำผลงานได้ดีกว่าบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อื่นๆ
ท่ามกลางความไม่แน่นอนด้านภาษี โดยลดลงเพียงร้อยละ 6 สำหรับปี 2568
ซึ่งไม่แย่กว่าดัชนี S&P 500 มากนัก
เอเชียกับการใช้
AI
เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน
ดัชนีแนวโน้มการทำงานประจำปี
2568
ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากการตอบแบบสำรวจและข้อมูลการใช้งานจากผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์สำนักงานของบริษัท
เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มและพฤติกรรมในที่ทำงานทั่วโลก
จากข้อมูลดังกล่าว
พบว่า ผู้นำธุรกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกว่าร้อยละ 60
มีความต้องการที่จะนำเอไอมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มผลผลิตในองค์กร ในขณะเดียวกัน
ทั้งผู้นำและพนักงานมากถึงร้อยละ 85
รู้สึกว่าไม่มีเวลาและพลังงานเหลือสำหรับงานมากกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งตัวเลขนี้สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกเล็กน้อย
ไมโครซอฟท์ชี้ให้เห็นว่า
ปัญหาสำคัญเกิดจากการถูกรบกวนบ่อยๆ ในที่ทำงาน เช่น การประชุม อีเมล
หรือการแจ้งเตือนในระบบต่างๆ ซึ่งพบว่าเกิดขึ้นเฉลี่ยทุกสองนาที
ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง
ทางออกที่ไมโครซอฟท์เสนอคือ
การใช้ “ตัวแทนเอไอ” (AI Agents) ซึ่งเป็นโปรแกรมที่สามารถทำภารกิจต่างๆ
ตามที่ผู้ใช้งานกำหนด ตัวอย่างเช่น การให้เอไอเข้าไปเข้าร่วมประชุมแทน
และสรุปรายงานสาระสำคัญกลับมาเมื่อมีการเอ่ยถึงชื่อของผู้ใช้งานในระหว่างการประชุม
ถึงแม้ว่าการเพิ่มขึ้นของตัวแทนเอไอ
อาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อตำแหน่งงานในสายออฟฟิศที่ใช้ความรู้ (White-collar
Jobs) แต่ข้อมูลของไมโครซอฟท์พบว่า
ผู้นำธุรกิจในเอเชียส่วนใหญ่ต้องการใช้เอไอ เพื่อทำงานที่มนุษย์ไม่สามารถทำได้
เช่น การให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง หรือการสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆ
อย่างต่อเนื่องตามความต้องการ
AI
จะไม่แย่งงาน แต่จะเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน
ลิมา
มีมุมมองเชิงบวกต่อผลกระทบของเอไอต่อการจ้างงาน โดยเชื่อว่า
เอไอจะสร้างงานใหม่ผ่านการเพิ่มผลผลิตทางเศรษฐกิจ
ทำให้โดยรวมแล้วการจ้างงานเพิ่มขึ้น
“ผมไม่เชื่อเรื่องการแย่งงาน
แต่เชื่อในการเปลี่ยนแปลงลักษณะงาน”
เขายังกล่าวอีกว่า
ทักษะสำคัญที่สุดในยุคใหม่ ไม่ใช่แค่การใช้เทคโนโลยี
แต่คือความเข้าใจในวิธีทำงานของเอไอ และการประยุกต์ใช้อย่างเป็นระบบ
“เอไอคือคณิตศาสตร์ยุคใหม่” ลิมากล่าว
พร้อมยกตัวอย่างว่า
“ในอนาคต คุณจะต้องสร้างตัวแทนเอไอได้เหมือนกับการสร้างสเปรดชีต (Spreadsheet)
และถ้าคุณทำไม่ได้ คุณก็จะไม่มีวันทำงานได้เร็วเท่าคนข้างๆ คุณ”
ที่มา
:
กรุงเทพธุรกิจ
วันที่
28 เม.ย. 2568