เอ็ตด้าย้ำบทบาท
Co-Creation
Regulator เดินหน้าแคมเปญ DPS Trust Every Click ดึงทุกฝ่ายร่วมสร้างมาตรฐานบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่ปลอดภัย
รับเม็ดเงินการบริโภคด้านดิจิทัลสูงถึง 4.8 ล้านล้านบาท สูงกว่า GDP โดยรวมของประเทศถึง 2.6 เท่า
ชัยชนะ
มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ ETDA เปิดเผยว่า ปัจจุบัน
คนไทยมีความคุ้นเคยและใกล้ชิดกับการทำธุรกรรมออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลมากขึ้นอย่างชัดเจน
โดยสะท้อนจากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
(สดช.) คาดการณ์ว่าในปี 2568 การบริโภคภาคเอกชนด้านดิจิทัลจะขยายตัวถึง 7.6% จากปี
2567 ซึ่งสูงกว่าการขยายตัวของการบริโภคโดยรวมของประเทศที่คาดว่าจะอยู่ที่ 3.3%
โดยปัจจัยหลักมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาใช้บริการผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลในชีวิตประจำวันมากขึ้น
แนวโน้มดังกล่าวยังมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย
ทำให้ในในปี
2568 คาดว่าจะมีมูลค่ารวมสูงถึง 4.8 ล้านล้านบาทขยายตัว 7.3% จากปีก่อนหน้า
และเติบโตในอัตราที่ สูงกว่า GDP โดยรวมของประเทศถึง
2.6 เท่า
อย่างไรก็ตาม
ประเทศไทยยังคงเผชิญกับปัญหาและความเสี่ยงจากการทำธุรกรรมบนแพลตฟอร์มดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง
โดยจากสถิติการรับแจ้งเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์จาก
ศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ หรือ 1212ETDA (Online
Fraud and Complaint Center) พบว่าในปี 2567 (มกราคม-ธันวาคม)
มีเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 35,358 เรื่อง
ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการถูกหลอกลวงในการซื้อขายออนไลน์
รวมถึงการใช้งานเว็บไซต์ผิดกฎหมาย เช่น เว็บพนันออนไลน์
และเว็บไซต์ที่มุ่งดูดเงินจากผู้ใช้งาน คิดเป็น 74% ของปัญหาทั้งหมด
ดังนั้น
เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายที่เกิดขึ้นและขับเคลื่อนกลไกกำกับดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัลให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
ETDA
ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลภายใต้บทบาท Co-Creation Regulator ที่ให้ความสำคัญกับการรับฟังความคิดเห็น และการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน
จึงเดินหน้าขับเคลื่อนแคมเปญ “DPS Trust Every Click” ซึ่งมีเป้าหมายในการสร้างการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับ
แนวปฏิบัติ ประกาศ และคู่มือต่าง ๆ ภายใต้ กฎหมาย DPS ไม่ว่าจะเป็น
คู่มือการพิสูจน์และยืนยันตัวตนของผู้ใช้บริการ
คู่มือการดูแลโฆษณาออนไลน์บนแพลตฟอร์มดิจิทัล
คู่มือการดูแลการจำหน่ายสินค้าที่ต้องมีมาตรฐานบนแพลตฟอร์ม และ ขมธอ. 32-2565
ว่าด้วยการรวบรวม กลั่นกรอง และเผยแพร่รีวิวของผู้บริโภคบนช่องทางออนไลน์ เป็นต้น
ซึ่งล้วนถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการดูแลบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล
มุ่งสร้างพื้นที่แห่งความร่วมมือ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุน
สร้างความเข้าใจและการประยุกต์ใช้แนวปฏิบัติและคู่มือดังกล่าว
ให้สามารถนำไปใช้งานได้จริง ด้วยเป้าหมายคือการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย ความโปร่งใส
และความเชื่อมั่น ในบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ผ่านการสร้างกลไก การกำกับดูแลตนเอง (Self-Regulation)
ที่ขับเคลื่อนร่วมกันโดยทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน
ภาคประชาสังคม หรือผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล
เพื่อสร้างระบบนิเวศดิจิทัลที่ประชาชนสามารถ “คลิก”
ได้อย่างมั่นใจในทุกธุรกรรมออนไลน์ ที่ทุกคนต่างมีส่วนร่วมและเดินหน้าไปพร้อม ๆ
กัน
ภายใต้แคมเปญ
‘DPS
Trust Every Click’ จัดเต็มหลากหลายกิจกรรมที่สร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมกับพาร์ทเนอร์คนสำคัญจากทุกภาคส่วน
ที่จะเกิดขึ้นตลอดทั้งปี ทั้ง กิจกรรมเสวนาให้ความรู้
เปิดมุมมองในประเด็นที่เกี่ยวข้อง กิจกรรม Workshop ระดมความคิดเห็น
เพื่อร่วมกำหนดทิศทางการดูแล ป้องกัน
ตลอดจนแนวทางหรือมาตรฐานที่จะเข้ามายกระดับความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือแก่บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล
รวมทั้งการสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้บริโภคเพื่อให้รู้เท่าทันภัยออนไลน์
รู้สิทธิตามกฎหมาย
สามารถเข้าถึงการดูแลเยียวยาเมื่อได้รับผลกระทบจากการใช้บริการแพลตฟอร์มได้ทันท่วงที
เป็นต้น โดยกิจกรรมภายใต้แคมเปญนี้จะมีทั้งหมด
4 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 จะเปิดตัวกิจกรรมภายใต้แนวคิด
รวมพลังต้านภัยสินค้าออนไลน์ผิดกฎหมาย–ไร้มาตรฐาน ที่จับมือกับ
สภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเวทีเสวนาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง
ร่วมกำหนดแนวทางป้องกัน แก้ไข และดูแลการขายสินค้าออนไลน์ที่ไม่ได้มาตรฐานและผิดกฎหมาย
เพื่อสร้างพื้นที่ออนไลน์ที่ปลอดภัยเพื่อทุกคน
โดยกิจกรรมครั้งแรกจะเกิดขึ้นในวันที่ 30 เมษายนนี้
ส่วนกิจกรรมครั้งที่
2 มาในแนวคิด Ads Screening & Trust – สแกนก่อนคลิก
ป้องกันก่อนถูกหลอก มุ่งยกระดับมาตรฐานในการตรวจสอบโฆษณาออนไลน์
โดยเน้นการยืนยันตัวตนของผู้ลงโฆษณา
และการกลั่นกรองเนื้อหาที่เผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์ม
เพื่อลดความเสี่ยงในการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง
และป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคตกเป็นเหยื่อของโฆษณาหลอกลวง
ขณะที่
กิจกรรมครั้งที่ 3
จะเป็นกิจกรรมว่าด้วยเรื่องการยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานบนแพลตฟอร์ม อย่าง
‘ไรเดอร์’ เพื่อให้เกิดแนวทางกลางในการดูแลสิทธิประโยชน์ ความเป็นธรรม
และความปลอดภัยในการทำงาน
ก่อนปิดท้ายกิจกรรมสุดท้ายของปี กับ การออกแบบแนวทางการกำกับดูแลร่วมกัน (Co-regulation)
เพื่อให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงและสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจดิจิทัล
ผ่านการดำเนินงานของ ‘คณะกรรมการร่วม’ ภายใต้กฎหมาย DPS และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่จะมากำหนดทิศทางเหล่านี้ไปพร้อมกัน
โดยผลลัพธ์จากกิจกรรมที่ที่จัดขึ้นในปีนี้จะถูกนำไปสู่การรวบรวมข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อขับเคลื่อนมาตรฐานตลอดจนแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องสำหรับหน่วยงานและแพลตฟอร์มต่าง
ๆ ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล
ซึ่งการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในกระบวนการนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาต่อยอดสู่แนวปฏิบัติที่สามารถปฏิบัติได้จริงอย่างเป็นรูปธรรมและมีความชัดเจน
ที่สำคัญเป็นที่ยอมรับเพราะทุกภาคต่างส่วนร่วมกันกำหนดขึ้น
รวมถึงการสร้างระบบของการดูแลที่มีความยืดหยุ่นและสามารถปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคตได้
ที่มา
:
กรุงเทพธุรกิจ
วันที่
28 เม.ย. 2568